เพิ่งได้อ่านมติชนรายสัปดาห์ ฉบับรกฺตจกฺษุครับ มีบทความหนึ่งที่พูดถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ และมีท่อนหนึ่งที่พูดถึงว่า ระบบลิขสิทธิ์เป็นการผูกขาด และของก็จะราคาสูงกว่าต้นทุนอยู่แล้ว (จริงๆ เขาไม่ได้เขียนออกมาแบบ negative อะไร แต่ผมก็เคยคิดจะขยายความเรื่องนี้มานานแล้ว ก็เลยหยิบมาเขียนเลย)
ที่อยากจะเขียนประการแรกที่กล่าวได้ก่อนเลยคือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาคือการผูกขาด แบบที่ตั้งใจให้มีการผูกขาดจริงๆ ถามว่า ทำไมระบบทุนนิยมถึงได้ออกแบบให้มีการผูกขาด ทั้งที่ปกติเห็นจะพูดแต่เรื่องการแข่งขัน ใครใคร่ค้าค้า มาคราวนี้กลับมาสร้างระบบผูกขาด
สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ ธรรมชาติของทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร (ขอพูดถึงแค่สองอันหลักๆ นี้เท่านั้น)
ธรรมชาติโดยทั่วไปของทรัพย์สินทางปัญญาคือ ต้นทุนในการสร้างนั้นสูงกว่าต้นทุนในการนำไปใช้หรือคัดลอกมาก และต้นทุนนั้นก็แทบไม่ขึ้นกับปริมาณการผลิต นั่นเป็นสาเหตุที่หลายคนมองว่ามันแพงเกินจริง เพระาโดยปกติถ้ามีการแข่งขันแล้ว ราคาของสินค้าจะใกล้เคียงกับ marginal cost ในการผลิต
ลองยกตัวอย่างออกมาให้เห็นชัดๆ สมมติว่าคุณต้องการผลิตหนังสือนิยายเรื่อง Harry Potter ถ้าคุณมีเรื่องที่จะใช้พิมพ์อยู่แล้ว ต้นทุนของคุณก็จะมีแค่ค่ากระดาษ หมึก ค่าพิมพ์ ค่าแรง และกำไรปกติของคุณ แล้วถามว่า คนที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการเขียนเรื่องนี้ เอารายได้ส่วนไหนไปล่ะ
คำตอบคือ ไม่มีเลย ถ้าเกิดไม่มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะถ้าไม่มีลิขสิทธิ์ เท่ากับว่า ผู้เขียนก็ไม่ได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของอะไร ใครจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด
อธิบายไปเท่านี้น่าจะพอเห็นภาพ สมมติว่าคุณพิมพ์หนังสือโดยจ่ายเงินให้ผู้เขียน คนอื่นก็สามารถนำเนื้อหาไปพิมพ์โดยตั้งราคาถูกกว่าเพราะไม่ต้องจ่ายเงินให้ผู้เขียน เท่ากับว่า ผู้เขียนก็ไม่มีทางมีรายได้อะไร (ลอจิกมันก็พิ้นๆ ครับ ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ ก็ไม่มีสิทธิหารายได้จากมัน เหมือนแม่ค้าขายข้าวแกง ถ้าไม่มีสิทธิ์ในข้างแกงที่ตัวเองขาย อยู่ๆ ใครจะขโมยไปก็ไม่ผิดกฎหมาย ถามว่าจะขายได้ยังไง)
สำหรับสิทธิบัตรก็เช่นกัน การวิจัยค้นคว้าและพัฒนาต่างๆ ก็มีต้นทุนที่สูง แต่เมื่อคิดออกมาแล้ว คนอื่นเอาไปใช้ได้ในต้นทุนไม่มาก ผู้ผลิตที่คิดขึ้นมาก็ไม่มีโอกาสนำรายได้ไปชดเชยต้นทุนที่เสียไป
ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจึงให้อำนาจผูกขาดกับผู้ผลิต ให้สามารถหาประโยชน์ได้จากมัน เพราะถ้าไม่สามารถหาประโยชน์ได้แล้ว อาชีพอย่างนักประพันธ์ โปรแกรมเมอร์ และผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ต่างๆ ก็ไม่สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ เมื่อมูลค่าของงานไม่ไปตกอยู่กับผู้ผลิตเลย เราก็จะมีงานสร้างสรรค์ออกมาน้อยกว่าที่สังคมควรจะมี คนที่จะผลิตงานสร้างสรรค์ก็จะเหลือแต่คนที่มีกินมีใช้เหลือเฟือ สามารถนำเวลามาบริจาคให้กับสังคมได้เท่านั้น
4 Comments