เนื่องในโอกาสที่ Reporters Without Borders (Reporters sans frontières) จะให้วันที่ 12 มีนาคม เป็น World Day Against Censorship ก็อยากจะเขียนหนึ่งบทความเล็กๆ สักหนึ่งบทความ
เสรีภาพในการแสดงออกกับสังคมประชาธิปไตย
หากมนุษยชาติทั้งหมดยกเว้นคนคนหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างหนึ่ง และคนคนเดียวนั้นมีความเห็นในทางตรงกันข้าม มนุษยชาติก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำให้คนนั้นเงียบเสียงลงมากไปกว่าการที่คนคนนั้น หากเขามีอำนาจ มีความชอบธรรมที่จะทำให้มนุษยชาติเงียบเสียงลง
ผมเองไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ไม่เคยศึกษารัฐศาสตร์อย่างจริงจัง และก็จำทฤษฎีประชาธิปไตยของใครต่อใครไม่ค่อยได้ แต่ในความคิดของผม เสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในประชาธิปไตย และก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า ประชาธิปไตยที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก จะกลายเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกัน
หลักการสำคัญของประชาธิปไตยคือประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ และลำพังอำนาจในการตัดสินใจนั้นก็ยังไม่เพียงพอ หากข้อมูลข่าวสารความรู้และความคิดต่างๆ ไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างเสรี
นึกภาพการเลือกตั้ง ที่เราอนุญาตให้มีฝ่ายเดียวที่สามารถพูดโน้มน้าวหาเสียงให้กับตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายอื่นถูกบังคับให้ปิดปากเงียบ เราจะเรียกภาวะเช่นนั้นว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
หากเราต้องการให้สาธารณะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสักประเด็นหนึ่ง มันจะมีความหมายอะไร ถ้ามีฝ่ายเดียวที่คอยยกย่องความคิดตัวเอง โจมตีความคิดตรงข้าม ในฝ่ายอื่นถูกปิดปากไว้ไม่ให้พูด
กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานอย่างเครื่องจีที 200 ถ้าไม่มีเสรีภาพในการคิด ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เราจะได้ผลลัพธ์เช่นนี้มาหรือ ลองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากคำโจมตีให้ร้ายเครื่องมือราคาแพงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีใครสามารถออกมาตั้งข้อสงสัยมันได้ ใครที่กล้าออกมาบอกว่าเครื่องมือนี้ลวงโลกจะต้องถูกลงโทษ ถ้าอยู่ภายใต้สถานการณ์อย่างนั้นแล้ว ถึงรัฐบาลจะยอมจัดประชามติทั้งประเทศถามว่าควรจะใช้เครื่องมือนี้หรือไม่ เราจะได้ผลแบบไหนกัน
แน่นอนว่ามันอาจมีข้อจำกัด และการแสวงหาเส้นแบ่งของสิ่งที่อาจถูกจำกัดอย่างการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง อาจลำบากและพร่ามัวในบางครั้ง การจำกัดใดๆ ที่อาจมี จึงต้องมีหลักเกณฑ์เหตุผลที่ชัดเจน ทำอย่างจำกัดและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
จุดประสงค์เดียว ที่จะสามารถใช้อำนาจอย่างชอบธรรมเหนือสมาชิกคนใดในสังคมอารยะโดยขัดกับความมุ่งหมายของเขา คือการป้องกันอันตรายต่อผู้อื่น
– จอห์น สจวร์ต มิลล์, ว่าด้วยเสรีภาพ
เสรีภาพในการแสดงออก อินเทอร์เน็ต และการปิดกั้น
ผู้ที่มีอำนาจไม่ชอบอินเทอร์เน็ต
ปรากฏการณ์นี้อธิบายไม่ยากเลย ในเมื่ออินเทอร์เน็ตคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา อินเทอร์เน็ตคือสื่อที่ลดกำแพงจากการส่งสารแบบเดิมๆ อินเทอร์เน็ตคือสื่อที่ทำให้ใครต่อใครสามารถส่งต่อความรู้ความคิดของตัวเองได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่าสื่อแบบเดิมๆ
การมีเครื่องคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อาจจะยังแพงกว่าการอ่านหนังสือพิมพ์ การฟังวิทยุ และอาจจะรวมถึงการดูโทรทัศน์ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้ิอมของหมู่คนจำนวนไม่น้อย และไม่มีสื่อใดที่กล่าวมาในประโยคข้างต้น ที่คนตัวเล็กๆ สามารถส่งสารออกไปให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสื่อที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องมีการขึ้นทะเบียน ขออนุญาตมากมาย แต่การแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ด การเปิดบล็อกแสดงความคิดเห็นสักอัน หรือเว็บไซต์เล็กๆ สักแห่ง ไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาสูงเลย อินเทอร์เน็ตจึงทำให้เราได้พูดมากขึ้น และได้ฟังใครต่อใครที่ไม่ใช่เพียงคนตัวใหญ่ๆ ไม่กี่คนอีกต่อไป
แน่นอน การที่ใครต่อใครก็สามารถพูดได้ โดยที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ
อินเทอร์เน็ตจึงพยายามถูกทำให้เป็นแพะรับบาป เป็นปิศาจร้าย ผ่านข้ออ้างต่างๆ นานา ที่เราเองก็ได้ยินกันอยู่ทุกวัน เพื่อจะได้ดูมีความชอบธรรมเวลาที่พวกเขาต้องการเข้ามาควบคุมอินเทอร์เน็ตให้เป็นอย่างที่ต้องการ พวกเขาในที่นี้ไม่ใช่เพียงผู้กุมอำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงผู้กุมอำนาจทางศีลธรรมทั้งหลาย และผู้ที่กุมอำนาจในการนำเสนอข่าวสารด้วย
ปกป้องอินเทอร์เน็ต ปกป้องเสรีสารสนเทศ ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของเรา
2 Commentsพวกเขาเพิกเฉยเราไม่ได้ และพวกเขาก็หยุดเราไม่ได้ด้วย ขอบคุณพระเจ้าสำหรับอินเทอร์เน็ต หรือไม่เช่นนั้นเราคงไม่รู้อะไรเลย และเราคงกลายเป็นรัฐฟาสซิสต์ไปแล้ว