เมื่อเช้าผมมีสอบไฟนอลวิชาการใช้ภาษาไทย TH 161 ครับ
การสอบผ่านไปได้อย่างไม่เลวร้าย และในขณะทำข้อสอบ ผมก็นึกหัวข้อที่จะเอามาเขียน จากโจทย์ในข้อสอบนั่นเลยทีเดียว
ในข้อสอบ มีข้อหนึ่ง ซึ่งให้เขียนเรียงความ (ความยาวประมาณ 25 บรรทัด) คำถามคือ นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ ว่า “สื่อบันเทิงมีผลเสียต่อเยาวชนไทย”
โดยส่วนตัวผมไม่ชอบโจทย์แบบนี้เท่าไรนักครับ (ตั้งแต่ในคาบเรียนที่ได้โจทย์ว่า นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ว่า “เทคโนโลยีสมัยใหม่มีผลเสียต่อสังคม”)
ทำไมกันล่ะ?
ผมรู้สึกว่า โจทย์แบบนี้ อารมณ์ของโจทย์มันใกล้เคียงกับการบอกว่า สื่อบันเทิง/เทคโนโลยีสมัยใหม่/ฯลฯ มันไม่ดี แต่มันกลับไม่เหมือนกัน
ลองคิดดูว่า ถ้าเราจะตอบไม่เห็นด้วย เราจะให้เหตุผลสนับสนุนว่าอะไร?
ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ แปลว่าเราจะต้องหาเหตุผลสนับสนุนให้ได้ว่า สื่อบันเทิง/เทคโนโลยีสมัยใหม่ “ไม่มีผลเสีย” ต่อเยาวชนไทย/สังคม
คำถามคือ คุณจะให้เหตุผลสนับสนุนยังไงว่า ผลเสีย “ไม่มี”
อันที่จริง ในความคิดของผม แทบทุกสิ่งอาจถูกกล่าวได้ว่ามี “ผลเสีย” (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรานับต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เป็นผลเสีย)
ลองคิดดูเล่นๆ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าการอ่านหนังสือมีผลเสียต่อเยาวชนไทย
“ในการที่จะอ่านหนังสือนั้น เยาวชนจะต้องใช้ทรัพยากรเวลา และอาจรวมถึงทรัพยากรเงิน ไปในการอ่านหนังสือ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปสัมผัสธรรมชาติ ทำงาน เดินทางไปในท้องถิ่นอื่น เป็นต้น”
การถามเพียงผลเสีย ทำให้สิ่งที่เราพิจารณามีเพียงผลเสีย แต่ไม่ได้พิจารณา “ความคุ้มค่า” ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่า เพราะการถามว่า มีผลเสียหรือไม่ แทบจะไม่สามารถทำให้คำตอบเป็นอื่นไปได้ (หรือแม้แต่ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการบอกว่าหนังสือมีผลเสีย คุณจะยกเหตุผลสนับสนุนอย่างไร?)
จริงๆ แล้วโจทย์แบบนี้ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายหรอกครับ เพียงแต่โดยความรู้สึกส่วนตัว ผมมักจะคุ้นชินและชอบโจทย์ที่ถามแบบเปิดช่องมากกว่านี้ เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่ารัฐควรเข้ามากำกับสื่อบันเทิงมากขึ้น หรือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีผลเสียต่อสังคมมากกว่าผลดี (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเกินจุดมุ่งหมายของการฝึกเขียนเรียงความนี้ก็เป็นได้)
ผมเห็นด้วยครับว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ว่า …มีผลเสียต่อ…” มีผลเสียต่อวิธีคิด
ตรรกะนั้นสำคัญไฉน
อาฮะ
จริง ๆ ประโยคคำถามมันแค่ขาดคำว่า
“มีผลเสีย….มากกว่าผลดี”
สินะ
แต่เห็นด้วยกับป่านว่า ไม่ว่าเรื่องอะไร ๆ ก็ต้องมี ‘ผลเสีย’ อยู่แล้ว
ขนาดออกซิเจนยังมีผลเสียเลย